ที่มาโครงการในพระราชดำริฯ



โครงการพัฒนาพื้นที่สระบ่อดินขาวอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

           โครงการพัฒนาพื้นที่สระบ่อดินขาวตั้งอยู่บนพื้นที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โครงการนี้เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตำบลพรหมนิมิต และตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยการบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการในการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาวอย่างยั่งยืน ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งดินขาว ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปูนซีเมนต์ที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้มาทำการขุดและขนส่งลำเลียงผ่านทางรถไฟส่งต่อไปยังโรงงานบางซื่อ และได้เลิกทำการขุดไปเมื่อปี พ.ศ. 2459 พื้นที่บ่อดินขาวจึงกลายเป็นแอ่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้มีน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีประชาชนเข้ามาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบ สระบ่อดินขาวจึงกลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในชุมชน ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร นับแต่นั้นเป็นต้นมา
           ปัจจุบัน ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และอาคารที่อยู่อาศัย ตลอดจนการถมดินเพื่อทำสิ่งปลูกสร้าง ส่งผลให้เส้นทางน้ำที่เคยไหลตามธรรมชาติถูกปิดกั้น ทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำที่ไหลไม่เข้าสระ น้ำในสระบ่อดินขาวจึงมีปริมาณลดลง ไม่เพียงพอสำหรับการอุปโภค และทำการเกษตร ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง การพัฒนาสระบ่อดินขาว เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ในพื้นที่ตำบลพรหมนิมิต และตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ การพัฒนาครอบคลุมพื้นที่กว่า 766-0-75 ไร่ โดยมีสระบ่อดินขาวเป็นศูนย์รวมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โครงการพัฒนาพื้นที่สระบ่อดินขาว เป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ตามความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ประกอบด้วยส่วนงานสำคัญ ได้แก่
1. การพัฒนาและบำรุงรักษาแหล่งน้ำ : ดำเนินการขุดลอกสระบ่อดินขาว และการปรับปรุงลำรางส่งน้ำ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ รองรับการกักเก็บน้ำที่มีมากในฤดูฝนสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง
2. การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ : มุ่งเน้นการเติมน้ำเข้าสู่สระบ่อดินขาวด้วยการหาน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อนำมากักเก็บไว้ในสระ สำรองไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ประโยชน์หรือให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี
3. การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ : การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบสระบ่อดินขาว รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกร โดยการน้อมนำแนวคิดเกษตรผสมผสานมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ของตน

ผสานประโยชน์ร่วมกัน ผ่านการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม
           ผสานประโยชน์ร่วมกัน ผ่านการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วมด้วยการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีการประสานประโยชน์ร่วมกัน ในการดำเนินงานแบบบูรณาการ เพื่อให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาสระบ่อดินขาวให้เกิดเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรผสมผสานมาปรับใช้ สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

โครงการพัฒนาพื้นที่สระบ่อดินขาว มีแนวทางการพัฒนาสระบ่อดินขาว ประกอบด้วย 4 ส่วนงานสำคัญ ได้แก่
1. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเขาวงและพื้นที่แอ่งน้ำขังหนองกะทะ
    1.1 ฟื้นฟูป่า สร้างฝายชะลอน้ำ พื้นที่รับน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บน้ำ
    1.2 ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
    1.3 สร้างระบบสำรองน้ำ และระบบทางน้ำเข้าจากพื้นที่รับน้ำเขาวง
    1.4 ผันน้ำเข้าสู่สระบ่อดินขาวผ่านท่อลอดใต้ทางรถไฟ
2. พัฒนาแปลงเกษตรผสมผสานในพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์โดยประชาชนมีส่วนร่วม
    2.1 เชื่อมต่อแหล่งน้ำจากร่องน้ำข้างถนนเข้าสู่ทางทิศเหนือของแปลงที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ
    2.2 พัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิง ทำคลองไส้ไก่ เสริมระบบสำรองน้ำ บ่อหน่วงน้
    2.3 ใช้ระบบสูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์
    2.4 ระบบถังสำรองน้ำพร้อมจ่าย
3. ฟื้นฟูทางน้ำที่เชื่อมกับคลองชัยนาท
    3.1 ป่าสัก โดยใช้พลังงานทดแทนจากโซล่าเซลล์ เพื่อระบายน้ำลงคลอง
    3.2 ปรับระดับขุดลอกทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำให้สามารถจ่ายน้ำสู่พื้นที่การเกษตร
    3.3 จัดรูปที่ดิน (เป็นทางระบายน้ำล้นจากสระบ่อดินขาว) - จัดการน้ำในแปลงเกษตรผสมผส
4. พัฒนาพื้นที่รอบสระบ่อดินขาวอย่างเป็นระบบ
    4.1 ปรับระดับขุดลอกทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำให้สามารถจ่ายน้ำสู่พื้นที่การเกษตร
    4.2 จัดรูปที่ดิน (เป็นทางระบายน้ำล้นจากสระบ่อดินขาว)
    4.3 จัดการน้ำในแปลงเกษตรผสมผสาน
    4.4 ปลูกไม้ท้องถิ่น ไม้กินได้รอบสระบ่อดินขาว ปลูกพืชคลุมดินป้องกันการพังทลายของตลิ่งและปรับปรุงดิน รวมทั้งการพัฒนาเป็นลานกิจกรรมของชุมชน

แก้ไขปัญหาและพัฒนา การดำเนินงานแบบคู่ขนาน
             นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้ดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มจากการร่วมแรงร่วมใจของทั้งเหล่าจิตอาสาจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่อำเภอตาคลี ร่วมกันปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบสระบ่อดินขาวให้มีความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างความสามัคคี และปลูกจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชนในพื้นที่
สุขสมดุล โดยชุมชน เพื่อชุมชน
            การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสระบ่อดินขาว ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ทั้งการบริหารจัดการป่าต้นน้ำ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการระบบสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
            สำหรับการพัฒนาพื้นที่สระบ่อดินขาวในระยะยาวนั้น จะเป็นแหล่งเรียนรู้การทำการเกษตรแบบผสมผสาน อีกทั้ง ยังเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนเพื่อชุมชน ระชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการพึ่งพาตนเอง และแบ่งปันกันอย่างพอดี พอเพียง และพอเหมาะ เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรในชุมชน ก่อให้เกิดความสำนึกรักและหวงแหนท้องถิ่นของตน เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการจัดการตนเองเพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งความสุขอย่างสมดุลและยั่งยืนสืบไป



ที่มา: ภารกิจเพื่อสังคม โครงการพัฒนาพื้นที่สระบ่อดินขาว อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์


ภาพเปิดโครงการ

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรทัศนียภาพบริเวณสระบ่อดินขาว ทรงปลูกต้นรวงผึ้ง ทรงปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดลงในสระบ่อดินขาว จำนวน 69 ตัว ทอดพระเนตรแปลงเกษตรกรรม ของราษฎรที่ได้รับน้ำจากบ่อดินขาว โดยใช้ พลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) และทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ บริเวณพื้นที่รอบสระบ่อดินขาว ตำบลพรหมนิมิต อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

ที่มา: facebook องค์การบริหารส่วนตำบลพรหมนิมิต