ที่มาโครงการในพระราชดำริฯ



โครงการพลิกฟื้นธนาคารควายไถนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ความเป็นมา
          ในอดีต ชาวนาไทยเคยพึ่งพาการใช้แรงงาน ควาย ในการไถนามาอย่างยาวนานแต่เมื่อเทคโนลียีมีความก้าวหน้ามากขึ้นทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่จึงละทิ้งควายมาใช้ควายเหล็กหรือรถไถแทน ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตข้าวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนควายพื้นบ้านไทยก็มีจำนวนลดลงอย่างมาก เนื่องจากถูกขายทิ้งเพื่อน้ำไปบริโภคเนื้อมากกว่าใช้แรงงาน
          ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2551 ณ  ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล และทรงมีพระราชดำรัสแก่บุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ข้าพเจ้าเป็นทุกข์แทนชาวนาไทย ซึ่งยังยากจน เพราะว่านอกจากน้ำมันแพงแล้ว ปุ๋ยก็ยังแพงมากอีกด้วย ข้าวของทุกอย่างพากันขึ้นตามราคาน้ำมันไปหมด อันนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเวลาทรงทอดพระเนตร อย่างไปทรงเยี่ยมตามจังหวัดต่าง ๆ เห็นประชาชนเลิกใช้ ควายไถนา มาใช้รถ นัยว่าสมัยใหม่กว่า ใช้รถไถนาควายก็กลายเป็นไม่มีค่าอะไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งบอก ต่อไปถ้าน้ำมันแพงขึ้น ชาวนาเหล่านี้จะทำอย่างไรได้ ทิ้งควายไปแล้ว เพราะควายตัวนี้ก็ต้องมาฝึกกันใหญ่ เข้าโรงเรียนฝึกหัดไถนา เพราะถูกทอดทิ้งงไปหลายปี ไถนาไม่เป็นตอนนี้ สู้น้ำมันไม่ไหว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าไม่มีวันที่จะลงหรอก  ความจริงเมื่อควายใช้ไถนาได้ก็น่าจะใช้ควายไถนา เดี๋ยวนี้ ใช้ควายเหล็ก มันกินน้ำมันแทนหญ้า ชาวนา ก็ยิ่งลำบาก อันนี ท่านนายกฯ คงจะช่วยสนับสนุนให้ชาวนาใช้ควายอย่างเดิม ก็ไม่เสียเกียรติอะไรเลยน่ารักออก รู้สึกมีชีวิตชีวาดี อย่างน้อยเราก็ผลิตข้าวได้มากอย่างเดิม ไม่ใช่ว่าแหมเมืองไทยนี ล้าสมัยต้องใช้ควายแทนที่จะใช้รถไถนาที่มีอยู่ที่มีความโก้เก๋ แต่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง บ่นมานานเลยบอกว่ารถไถนานี่ราคาสูง และน้ำมันก็จะแพงขึ้นเรื่อย ๆ และในระยะยาวต้องเสียค่าซ่อมค่าอะไหล่ ตอนที่รับสั่งน้ำมันก็ยังมีดี รับสั่งว่าถ้าเผื่อวันหนึ่งไม่มีมัน หรือน้ำมันแพงมาก รถไถนาก็ต้องจอดทิ้งไว้เฉยๆ ผิดกับควายที่มันเดินเองได้ทุกเวลา แล้วมูลของควายที่ถ่ายไว้ทั่วไปตามท้องนาก็เป็นปุ๋ยชั้นดี รับสั่งบ่นมานาน เดี๋ยวนี ท่านไม่บ่นแล้ว ท่านเห็นว่าสู้คนสมัยใหม่เขาไม่ ไหว แล้วท่านก็เลยไม่บ่น
        จากแนวพระราชดำรัสดังกล่าวจึงก่อให้เกิด โครงการพลิกฟื้นธนาคารควายไถนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมรับที่จะสนองพระราชดำริ จัดตั้งโครงการพลิกฟื้นธนาคารควายไถนาตามแนวพระราชดำริ โดยได้ดำเนินการเปิดโครงการมาตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ ส.ป.ก. กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรแต่ละชุมชนรวมกลุ่มจัดตั้งกันเป็นวิสาหกิจชุมชน พร้อมจัดหาควายมาให้เลี้ยงตามควมต้องการรายละ 2-3 ตัว โดยกรมปศุสัตว์จะให้ยืมควายจากธนาคาร โค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ (ธคก.) ขณะที่กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เตรียมสินเชื้อดอกเบี้ยต่ำ อัตราร้อยละ 1 ต่อปี ไว้ให้เกษตรกรกู้ยืมไปซื้อควาย วงเงินรวม 10 ล้านบาท รวมทั้งฝึกอบรมการเลี้ยงควายให้เกษตรกร และฝึกควายไถนาควบคู่กันไป เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้จริง มีพื้นที่ดำเนินการนำร่อง 12 ชุมชนใน 12 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ศรีสะเกษ ยโสธร สกลนคร หนองบัวลำภู แพร่ น่าน ตาก นครศรีธรรมราช เชียงราย และอุทัยธานี
        ในส่วนของจังหวัดอุทัยธานี ดำเนินการเปิดโครงการพลิกฟื้นธนาคารควายไถนา ตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันอังคารที่ 23 ธันวาคม 2551 ณ แปลงสาธิตบ้านสวนขวัญ หมู่ 13 ตำบลตลุกดู่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โดยมี นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี โดยในงานมีการดำเนินการหลากหลายกิจกรรม อาทิ
          1. มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อทำการทำการเกษตร (ส.ป.ก.4-01 ค) ให้แก่เกษตรกร 50 ราย
2. มอบสินเชื่อกองทุน ส.ป.ก. ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 10ราย ๆ ละ 50,000 บาท
3. มอบสัญญายืมกระบือและอุปกรณ์ไถนาให้แก่เกษตรกร ตามโครงการฯ
4. มอบปัจจัยการผลิต พันธุ์พืชผัก และพันธุ์ปลา
รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านการทำเกษตร ปศุสัตว์ และการทำบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือน
 







ที่มา : รูปพิธีเปิดงานโครงการพลิกฟื้นธนาคารควายไถนา. สืบค้น 10 พฤษภาคม 2566 จากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์อุทัยธานี
 
โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุทัยธานี สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดอุทัยธานี  สรุปประโยชน์ของโครงการ คือ สนับสนุนให้ชาวนาไทยใช้แรงงานควาย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำนา ลดต้นทุนในการผลิตเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนาฟื้นฟูทรัพยากรที่ดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากมูลควาย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  นอกจากนี้โครงการยังช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังกลายเป็นปัญหาระดับโลกในขณะนี้ ตลอดจนเป็นการสร้างจิตสำนึก และการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้ตระหนักถึงมูลค่าและคุณค่าของควายไทยให้คงอยู่ตลอดชั่วลูกชั่วหลาน สืบไป